Omega Speedmaster Professional Moonwatch Review

หนึ่งในนาฬิกาที่มีท่าไม้ตายรุนแรงที่สุด “MOONWATCH”, Omega Speedmaster Professional : The first watch worn on the moon

source : apollo-13.com

ความเป็นมาของ moonwatch

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 60 NASA ต้องการที่จะหานาฬิกาให้กับนักบินอวกาศ โดยจะต้องเป็นนาฬิกาที่มีระบบจับเวลา เพื่อไว้สำรองกรณีระบบหลักเสีย และต้องมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย NASA จึงได้ส่งพนักงานไปซื้อนาฬิกามาทดสอบเป็นการภายในเอง ก่อนที่จะออกใบสั่งซื้อไปยังบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งถ้าดูจากความต้องการในใบสั่งซื้อนั้น จะสังเกตได้ว่า NASA น่าจะถูกใจ Omega Speedmaster เป็นพิเศษ เพราะ spec ส่วนใหญ่ล้วนตรงกับ Speedmaster แทบทั้งนั้น

เพียงหนึ่งเดียวที่อยู่รอดมาได้

หลังการทดสอบแสนโหดของ NASA ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ 93oC ถึง -18oC, ความดัน ความชื้น สูงต่ำ, ภาวะ oxygen เข้มข้น, เสียง แรงสั่นสะเทือน และโดนแรงเหวี่ยงที่ความเร่ง 40G สุดท้ายก็เหลือเพียง Omega Speedmaster เท่านั้น ที่ยังคงอยู่รอดมาได้ โดยสูญเสียความเที่ยงตรง และมีรอยไหม้ที่พรายน้ำ ซึ่งยอมรับได้ ต่างจากยี่ห้ออื่นที่มีอาการ หยุดเดิน เข็มงอ หรือกระจกหลุด และในปี 1965 Omega Speedmaster ได้ถูกนำไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นครั้งแรกกับโครงการ Germini III

source : OMEGA

“The Eagle has landed”

และในที่สุด เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1969 lunar module ของยาน Apollo 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ โดยมี Omega Speedmaster อยู่บนข้อมือของ Buzz Aldlin และถูกใช้จับเวลาขณะนักบินทั้งสองเดินอยู่บนดวงจันทร์ (Niel Armstrong ทิ้งนาฬิกาของตนเองไว้บนยาน เพราะนาฬิกาบนยานขัดข้อง) นี่เองจึงเป็นที่มาของ moonwatch ที่ผมใฝ่ฝัน

ภาพ Buzz Aldlin กับ Omega Speedmaster, source : NASA

“Houston, we’ve had a problem here”

ไม่เพียงเท่านั้น ในโครงการ Apollo 13 เมื่อยานเกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถเดินทางไปดวงจันทร์ได้ นักบินจำเป็นต้องใช้มันจับเวลา ในการจุดระเบิดเครื่องสร้างแรงดันเอง เพื่อเดินทางกลับโลก เนื่องจากระบบจับเวลาไฟฟ้าบนยานเสีย ถ้าใครได้ดูหนังเรื่องนี้ ตอนเห็นนักบินใช้มันจับเวลา คงยิ้มแก้มปริ และนี่ก็เป็นที่มาของรางวัล Snoopy Award ที่นักบินมอบให้

source : revolutionwatch.com
Speedmaster Snoopy Award, source OMEGA

————————————————————————————

Moonwatch รุ่นไหนดี ต่างกันยังไง

ปัจจุบัน Omega Speedmaster Professional หรือ moonwatch ที่ยังมีหน้าตาเหมือนกับต้นฉบับมากที่สุด มีอยู่ 2 รุ่น (ไม่รวมพวก limited edition ซึ่งมีเยอะมากๆ) คือรุ่นที่ใช้เครื่องรหัส 1861 และเครื่องรหัส 1863 นอกจากนั้นเรายังสามารถเลือกได้ว่าชอบสายเหล็กหรือสายหนัง เท่ากับว่าไลน์ Speedmaster Professional moonwatch นั้นมีรุ่นย่อยทั้งหมด 4 รุ่น คือ (ราคาอ้างอิงจาก omegawatches.com)

  1. เครื่อง 1861 สายเหล็ก รหัส 311.30.42.30.01.005 ราคา 173,000 บาท
  2. เครื่อง 1861 สายหนัง  รหัส 311.33.42.30.01.001 ราคา 169,000 บาท
  3. เครื่อง 1863 สายเหล็ก รหัส 311.30.42.30.01.006 ราคา 203,000 บาท
  4. เครื่อง 1863 สายหนัง รหัส 311.33.42.30.01.002 ราคา 199,000 บาท

โดยรหัสเครื่อง 1861 และ 1863 หน้าตาด้านหน้าจะเหมือนกัน แต่มีลายละเอียดต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ รุ่น 1861 นั้นยังคง spec ที่เหมือนต้นฉบับมากที่สุด คือกระจกหน้าปัดทำจาก Hesalite crystal หรือกระจกพลาสติกที่เราเรียกๆกัน ข้อดีคือเหนียว และสามารถขัดลบลอยได้ง่าย ส่วนฝาหลังเป็นแบบปิดทึบเขียนข้อความ the first watch worn on the moon

moonwatch 1861 caseback, source : OMEGA

ส่วนรุ่น 1863 นั้น กระจกหน้าปัดทำจาก crystal sapphire ป้องกันรอยขีดข่วน เช่นเดียวกับฝาหลัง ทำให้เราสามารถมองเห็นเครื่องไขลาน ที่สวยงามมากๆ ในความคิดผม และด้วยเหตุนี้แหล่ะครับ ผมจึงตัดสินใจเลือก 1863 เพราะความสวยของเครื่องนี่เอง

เครื่อง 1863 ขัดแต่งสวยงาม มองเพลินๆ
เครื่อง 1863 สีสันสวยงาม แพรวพราว

แต่ใครที่อนุรักษ์นิยม ชอบความเป็น original เหมือนต้นฉบับเดิมให้มากที่สุด แถมราคาถูกลงมาอีกหน่อย ก็เลือก 1861 ได้เลยครับ และส่วนตัวผมคิดว่า เลือกสายเหล็กดีกว่าครับ เพราะสายหนังเราสามารถหาเพิ่มหรือเปลี่ยนใช้ของ aftermarket ได้ง่ายๆ

เปลี่ยนมาใส่สายหนังก็เข้ากันได้ดี และยังเบาสบายขึ้นชัดเจน

———————————————

Spec นาฬิกา (รุ่นรหัสเครื่อง 1863)

ตัวเรือนนาฬิกามีขนาด Ø 42mm. ขนาด lug 20mm. ผลิตจาก stainless steel กันน้ำลึก 50m. ขอบตัวเรือนหรือ bezel เป็นสเกล tachymeter สำหรับวัดความเร็วเฉลี่ย

กลไกนาฬิกาเป็นแบบขึ้นลานด้วยมือเท่านั้น มีระบบบอกเวลา 3 เข็ม และจับเวลาอีก 3 เข็ม สำรองพลังงาน 48 ชม. เมื่อลานเต็ม

source : OMEGA

หน้าปัดนาฬิกาสีดำด้าน พร้อมกระจก crystal sapphire เคลือบกันแสงสะท้อน มาร์คเกอร์ ตัวอักษร ตัวเลข และเข็มต่างๆ เป็นสีขาว อ่านเวลาได้ง่าย แม้มองจากไกลๆ

ตัวอักษรสีขาวคมชัด ตัดกับหน้าปัดดำด้าน
มาร์คเกอร์และเข็มสีขาว อ่านเวลาง่าย

ด้านหลังตัวเรือน ใช้ crystal sapphire ทำให้สามารถมองเห็นกลไกที่ขัดแต่งมาอย่างสวยงาม มองกี่ทีก็ไม่เบื่อ พร้อมประโยคคลาสสิค

moonwatch 1863 caseback, source : OMEGA

———————————————

การใช้งาน

การสวมใส่, moonwatch โดยพื้นฐานจัดเป็นนาฬิกา sport แต่การออกแบบนั้นคลาสสิคมากๆ มันดูเป็นนาฬิกา sport พร้อมลุยเมื่ออยู่บนสายเหล็ก และยังสามารถใส่กับเสื้อเชิ้ทแขนยาวหรือแม้แต่สูทได้อย่างเข้ากันดีอีกด้วย เพราะขนาดตัวเรือนที่ไม่หนา ทำให้นาฬิกายังหลบเข้าไปในแขนเสื้อได้อย่างไม่ติดขัดนัก

และเมื่อมันไปอยู่กับสายหนังสีดำหรือสีเข้มๆ มันก็จะกลายเป็น dress watch ชั้นดีได้อย่างลงตัวอีกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้มันจึงเหมาะอย่างยิ่งกับคนที่สนใจอยากได้นาฬิกาดีๆซักเรือน ที่สามารถใส่ได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะไปทำงาน หรือไปเที่ยว

บนข้อมือขนาด 18 ซม. (7 นิ้ว)
ลุคสบายๆ กับ Hawaiian shirt

นาฬิกาของผมเปลี่ยนมาใส่กับสายหนัง ตั้งแต่เดือนแรกที่ซื้อมาและไม่เคยเปลี่ยนกลับไปใส่สายเหล็กอีกเลย ผมมีข้อสังเกตนิดนึง สำหรับท่านที่เปลี่ยนไปใช้สายหนัง after market ขอให้หมั่นตรวจสอบสายตรงที่ใส่ spring bar เพราะของผมเป็นแบบใช้กาวยึดเคยหลุดคามือมาแล้ว เนื่องจากกาวหมดสภาพ แต่ถ้าเป็นแบบใช้ด้ายเย็บก็สบายใจได้มากหน่อย

การตั้งเวลา ขึ้นลาน และจับเวลา. หากใช้งานเป็นประจำ ก็ควรไขลานทุกวัน เพื่อรักษาความเที่ยงตรงของนาฬิกาด้วย เพราะเมื่อลานอ่อนมากๆ นาฬิกาจะเสียความเที่ยงตรง บางคนอาจรู้สึกไม่สะดวกที่ต้องไขลานบ่อยๆ อีกอย่างสำหรับคนนิ้วใหญ่ๆ ตอนแรกอาจจะรู้สึกไขลานลำบาก เพราะเม็ดมะยมมีขนาดเท่าๆนาฬิกาทั่วไป แต่ไขไปซักพัก ก็จะจับจังหวะที่เราถนัดได้เองครับ

เม็ดมะยมตรงกลางที่ตำแหน่งปกติ ทำหน้าที่สำหรับไขลาน โดยหมุนตามเข็มนาฬิกา เม็ดมะยมจะล็อคเมื่อลานเต็ม หมุนต่อไม่ได้ และเมื่อดึงออกจะทำหน้าที่ตั้งเวลา ปุ่มด้านบนเหนือเม็ดมะยมสำหรับ เริ่ม และ หยุด การจับเวลา ปุ่มด้านล่าง สำหรับ reset ระบบจับเวลาให้กลับไปที่ศูนย์ และห้ามกดปุ่ม reset ขณะระบบจับเวลาทำงานอยู่

ปัจจุบันเรือนของผมก็อายุ 11 ปีกว่าแล้ว ยังทำงานเป็นปกติ ไม่เคยงอแง พรายน้ำยังสว่างปกติ และคิดว่าจะยังอยู่ไปอีกนานหลายปี

———————————————

สรุป

จากบทความที่แล้วเรื่องเป้าหมาย เรือนนี้เป็นเรือนแรกในรายการ และสำหรับผมเรือนนี้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นนาฬิกาคู่ชีวิตเพียงเรือนเดียวได้สบายๆ กลไกขัดแต่งสวยงาม การผลิตที่เรียบร้อยประณีต ประวัติชื่อชั้นทั้งของแบรนด์ และของตัวนาฬิกาเอง เป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ

สำหรับใครที่กำลังมองหานาฬิกาคู่ใจซักเรือน ที่สามารถใส่ได้ทุกโอกาส จะใช้กับสายเหล็ก สายหนัง สายผ้า หรือสาย NATO ก็ได้ทั้งนั้น เครื่องถึกทน ราคายังพอมีเหตุผลเมื่อเทียบกับการได้เครื่องระบบจับเวลาแท้ๆ ขัดแต่งสวยงาม (ที่ไม่ได้ผลิตมาเยอะๆ เพื่อขายเป็นเครื่อง base อย่างตระกูล Valjoux 7750) ศูนย์บริการในประเทศพร้อม หรือแม้แต่ช่างทั่วไปที่มีความชำนาญหน่อยก็น่าจะคุ้นเคยดี ไม่ต้องห่วงเรื่อง service หรือส่งซ่อม เรือนนี้เหมาะสมมาก

และไม่ว่าคุณจะสนใจหรือไม่เกี่ยวกับการไปเยือนดวงจันทร์ของมัน ในงบประมาณนี้ อย่าลืมใส่มันไว้ในรายการที่ต้องไปลองทาบดู แล้วคุณจะไม่ผิดหวัง

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s